วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ซิป้าหวังแอนิเมชั่นไทย3ปีหมื่นล้าน

ซิป้าเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น มัลติมีเดีย ของไทย หวังพัฒนาเทียบชั้นระดับโลก ขอเวลา 3 ปี มูลค่าตลาดรวมถึงระดับหมื่นล้าน พร้อมโชว์ไฮไลท์เด็ดในงาน ได้ผู้มีประสบการณ์ในวงการแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียทั่วโลกอย่าง Chris Lee โปรดิวเซอร์ Superman Returns พร้อมด้วย Stephen Regelous โปรแกรมเมอร์ด้าน CG ภาพยนตร์ The Lord of the Ring ทั้งสามภาค เข้าร่วมให้ความรู้ ผู้ประกอบการหน้าใหม่ของไทย หวังพัฒนาเทียบชั้นฮอลลีวูดแห่งเอเชีย

นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า ถึงภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น มัลติมีเดีย และดิจิตอล คอนเทนต์ ของไทยว่า ในปี 2549 อุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวประมาณ 15% คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 5,000 ล้านบาท ในปี 2550 คาดว่าอัตราการเติบโตจะเป็นในทิศทางเดียวกัน โดยคาดว่าในปี 2551 ตลาดรวมน่าจะมีการเติบโตมากกว่า 20% ที่มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการเติบโตเป็นระดับหมื่นล้านบาทได้ภายใน 3 ปีนับจากปีนี้เป็นต้นไป

ส่วนตลาดรวมซอฟต์แวร์ในปี 2550 คาดว่า จะมีการเติบโตประมาณ 18% หรือมีมูลค่ารวมมากว่า 50,000 ล้านบาท

ในมุมมองธีรวิทย์เห็นว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นให้ขยายตัวและเติบโตในตลาดได้ต้องได้รับความร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐต้องให้การส่งเสริมอย่างจริงจัง เริ่มจากการศึกษาที่ต้องมีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบรับกับความต้องการของตลาด กำหนดแนวทางที่ชัดเจนเมื่อเด็กที่จบออกมาแล้วต้องมีงานรองรับ ต้องมีการกองทุนเพื่อให้การส่งเสริมภาคเอกชนที่อยู่ในธุรกิจ โดยยกตัวอย่างของประเทศเกาหลีที่ให้ทุนส่งเสริมเอกชนเป็นเงินทุนมากกว่า 100 ล้านบาทในแต่ละบริษัทเมื่อเห็นแนวทางว่าบริษัทนั้นมีอนาคต



"เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วคนไทยมีความสามารถ จึงอยู่ที่ว่าจะสร้างโอกาสได้อย่างไร การส่งเสริมจากภาครัฐต้องมีหลักการ มีเงินทุน เห็นความสำคัญกับการตลาด และที่สำคัญบุคคลากรต้องได้รับการพัฒนาส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การส่งเสริมอย่างจริงจังต้องได้ความร่วมมือกันหลายฝ่ายมิใช้ซิป้าเป็นผู้มีบทบาทอยู่เพียงผู้เดียว"

ส่วนหนึ่งของการส่งเสริมอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นของไทยคือการจัดงานThailand Animation and Multimedia หรือ TAM 2007 ขึ้นในวันที่ 16-20 พ.ย. 2550 นี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยในปีนี้ TAM 2007 อยู่บนแนวคิด “Global Opportunities for Digital Entertainment” โดยไฮไลท์ที่น่าสนใจในปีนี้ คือ เวทีสัมมนาทางวิชาการที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น มัลติมีเดีย และ Digital

Content จากทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 30 ราย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งมี Keynote Speaker ที่น่าสนใจจากต่างประเทศกว่า 10 ราย เช่น Mr.Stephen Regelous ผู้ก่อตั้ง บริษัท Massive Software ซึ่งเคยเป็นโปรแกรมเมอร์ด้าน CG ให้กับ The Lord of the Ring ทั้งสามภาค และเขียนโปรแกรม Massive ที่จำลองกองทัพของทหารให้มีจำนวนมหาศาลได้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งปัจจุบันเตรียมเปิดบริษัทผลิตแอนิเมชั่น และมัลติมีเดียขึ้นในประเทศไทยในเร็วๆ นี้ หลังจากที่เล็งเห็นถึงศักยภาพฝีไม้ลายมือการทำ CG ของผู้ประกอบการและประเทศไทย ที่สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลกได้

“การสนใจลงทุนในประเทศไทยของสตีเฟ่น นับเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น มัลติมีเดีย และ Digital Content ของไทยได้รับการพัฒนาอย่างมีระบบและประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวสู่ผู้นำในการผลิตผลงานแอนิเมชั่น มัลติมีเดีย และ Digital Content ในภูมิภาคนี้ หรือเป็นฮอลลีวูดเอเชียอย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ ยังมี Mr. Chris Lee โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดังที่ได้รับรางวัลหลายเรื่องของฮอลลีวู้ด เช่น Jerry Maguire, Philadelphia และ As Good As It Gets และยังเคยร่วมสร้างภาพยนตร์ยอดฮิตอีกหลายเรื่อง เช่น Superman Returns ,My Best Friend’s Wedding, The Mask of Zorro, Godzilla และ S.W.A.T. พร้อมกันนี้ คริส ลี ยังเคยร่วมกับผู้กำกับโจเซฟ คาห์น ผลิตมิวสิควิดีโอให้ศิลปินหลายราย เช่น Janet Jackson, The Backstreet Boys, Elton John และ Destiny’s Child เป็นต้น

ในส่วนของการพบปะเจรจาทางธุรกิจซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของงานในปี 2007 นี้ ที่มุ่งพัฒนาและยกระดับการจัดงานให้เกิดการเจรจาทางธุรกิจมากขึ้นนั้นได้รับความสนใจจาก International Buyers ที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมงานจำนวน 24 ราย จาก 10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ซึ่งประเทศที่เพิ่มเข้ามาจากปีที่ผ่านมาคือ ฝรั่งเศส อิตาลี และดูไบ ในส่วนของผู้ขาย (Sellers) มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 50 ราย โดย SIPA คาดว่า การพบปะเจรจาทางธุรกิจใน TAM 2007 นี้จะมีการพบปะเจรจาในลักษณะคู่ค้าทางธุรกิจเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 200 นัด และเกิดการค้าการลงทุนร่วมกันคิดเป็นมูลค่าพุ่งสูงกว่า 200 ล้านบาท ภายในช่วง 6 เดือนหลังจากการจัดงาน TAM

สำหรับ International Pavilion ในงาน TAM ปีนี้ได้รับความร่วมมือจากจากประเทศญี่ปุ่นที่นับว่าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและแอนิเมชั่น โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตผลงานแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียอย่าง บริษัท TV Tokyo และอีกกว่า 30 บริษัทมาร่วมงาน เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 120 ปี ซึ่งในวันที่ 18 พ.ย.นี้ก็จะมีการประกวดแต่งกายเลียนแบบการ์ตูนญี่ปุ่น (Cosplay) ด้วย

“จากการจัดงาน TAM ทั้ง 3 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมแอนิเมชั่น มัลติมีเดีย และ Digital Content ของประเทศไทยมีการพัฒนาไปอย่างมีระบบและประสิทธิภาพ โดยมีบริษัทเกิดขึ้นมากมาย และมีผลงานของคนไทยได้รับการยอมรับ มีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมทุน หรือว่าจ้างผลิตผลงานเพิ่มขึ้น ซึ่งได้เติบโตทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่ SIPA ต้องการสนับสนุนให้มีการเติบโตและขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่า 50% หรือการเพิ่มมูลค่าส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีบริษัทรับจ้างผลิตผลงานส่งออกแล้วกว่า 30 บริษัท จากเดิมมีไม่ถึง10 บริษัท”

ไม่มีความคิดเห็น: