ขณะที่ ผู้คนจำนวนมากกำลังกังวลกับอนาคตของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับรัฐบาลหลายประเทศ ภาคอุตสาหกรรม และชุมชนต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก เช่นเดียวกันกับที่มีกฎระเบียบใหม่ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ควบคู่กับความกังวลของสาธารณชนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้องค์กรต่างๆกำลังเผชิญความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้อง และอาจจะทำให้ชื่อเสียงของบริษัท หรือองค์การเหล่านั้นเสียหายได้ หากไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
นายทวีศักดิ์ แสงทอง ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ หรือ HDS อธิบายว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ในประเทศสิงคโปร์ ได้มีการออกข้อบังคับควบคุมอาคารที่กำหนดว่า ผนังด้านนอกของอาคารพาณิชย์ทั้งหมดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ จะต้องออกแบบให้ค่าการถ่ายเทความร้อนรวม ไม่เกินตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังออกมาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อสนับสนุนให้เจ้าของอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการค้าใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน ตลอดจนใช้อุปกรณ์ที่ควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิภาพสูง ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้พลังงานไฟฟ้า ทว่ากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมกลับเป็นตัวการใหญ่ที่สร้างปัญหานี้ เนื่องจากศูนย์ข้อมูล หรือ ดาต้า เซ็นเตอร์ มักจะใช้พลังงานมหาศาล ทำให้กลายเป็นจำเลยรายใหญ่
ผจก.ประจำประเทศไทย บ.เอชดีเอส อธิบายต่อว่า เพราะเมื่อมาพิจารณาปริมาณไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่ศูนย์ข้อมูลใช้ จากการสำรวจของ นิตยสารคอมพิวเตอร์เวิล์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือน เม.ย.2549 พบว่า อุปกรณ์เครื่องใช้ของศูนย์ข้อมูลกินไฟ 3 เมกะวัตต์ การสูญเสียของระบบจ่ายไฟ ระบบปรับอากาศ และแสงสว่างอีก 3 เมกะวัตต์ ความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดอีก 6 เมกะวัตต์ คิดเป็นต้นทุนต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงอยู่ที่ 0.06 เหรียญสหรัฐ ค่าไฟฟ้าที่ใช้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงจะอยู่ที่ 3.15 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อระบบมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10% จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อปีถึง 315,000 เหรียญสหรัฐ
นายทวีศักดิ์ อธิบายถึงการที่ดาต้าเซ็นเตอร์ถูกมองในแง่ลบเรื่องประหยัดพลังงานว่า มาจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ตามบทความ “2006 Data Center Polling Results: Power and Cooling ก.พ.2550 ของนายไมเคิล เอ เบลล์ บริษัท การ์ทเนอร์ ระบุว่า

1.ตัวเซิร์ฟเวอร์ บริษัท ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ท คาดว่าศูนย์ข้อมูลที่มีเซิร์ฟเวอร์ 2,500 เครื่อง จะใช้ไฟฟ้าเท่ากับตามบ้านคนทั่วไปกว่า 420,000 หลังคาเรือนต่อปี
2.สตอเรจ ทางไอดีซีประเมินว่า การใช้ไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูลทั้งหมด 37% เป็นของสตอเรจ ปัญหามาจากรการใช้ประโยชน์สตอเรจแบบไม่มีประสิทธิภาพ เพราะปกติจะมีการใช้งานโดยเฉลี่ยเพียง 45% ขณะที่ระบบเมนเฟรมเดิมสามารถใช้งานได้มากถึง 85% และสุดท้ายคือ
3.ระบบทำความเย็น บ.การ์ทเนอร์ ระบุว่าระบบปรับอากาศเดิมนั้นต้องใช้พลังงานไฟฟ้า 60% แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 100% โดยทุกวัตต์ของเครื่องปรับอากาศใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.5 วัตต์
ผจก.ประจำประเทศไทย บ.เอชดีเอส อธิบายอีกว่า ความจริงที่เกิดขึ้น คือ องค์กรจำนวนไม่น้อยยังคงสร้างและจัดการกับข้อมูลสำคัญทางธุรกิจที่มีจำนวนมากขึ้นกว่าที่เคย เมื่อมีข้อมูลมากก็ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น ทำให้เป็นภาระด้านพลังงาน ที่ไม่ใช่แค่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เป็นวิกฤตแก่องค์กรด้วย ดังนั้น ทั้งหมดนี้จึงสร้างแรงกดดันต่อชุมชนธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานมากขึ้น ขณะที่การดำเนินการด้านไอทีก็มีผลต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
นายทวีศักดิ์ อธิบายเสริมว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารงานสารสนเทศขององค์กร ต้องเข้าใจเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้ไฟฟ้าที่มักถูกซ่อนอยู่ภายในต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด และยากที่จะประเมินการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริง ก่อนหน้าที่ซีไอโอจะให้ความสำคัญกับการปรับขนาด และประสิทธิภาพ ขณะที่ต้องพิจารณาพื้นที่จัดวางและขนาดพื้นที่จัดเก็บ แต่ในขณะนี้ เริ่มให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของซีพียูบนเซิร์ฟเซอร์ แต่ก็แก้ไขได้แค่บางส่วน
“เพราะความจริงตัวสตอเรจต่างหาก ที่เป็นตัวก่อปัญหาและยังใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้นผู้บริหารด้านไอทีต้องหาวิธีรวมระบบเป็รนหนึ่งเดียว ลดจำนวนข้อมูลที่ต้องจัดเก็บ และลดการใช้ไฟฟ้า เช่น การทำระบบเสมือนจริง หรือ เวอร์ชวลไลเซชัน การลดจำนวนข้อมูลที่จัดเก็บในดิสก์ และการจัดสรรพื้นที่จัดเก็บให้มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับตัวผู้ผลิตอุปกรณ์สตอเรจ ที่ต้องเข้าในผลกระทบด้าสนสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตก็มีผลด้วยเช่นกัน วัตถุดิบอะไรที่นำมาใช้ ควบคุมซัพพลายเชนได้ดีแค่ไหน มีการจัดส่งสินค้าไกลแค่ไหน และมีแผนกำจัดหรือรีไซเคิลอะไรบ้าง” ผจก.ประจำประเทศไทย บ.เอชดีเอส กล่าว
นายทวีศักดิ์ อธิบายถึงขั้นตอนปฏิบัติที่นำมาใช้จัดการปัญหาเหล่านี้ว่า 1.ผู้ประกอบการต้องใช้ประโยชน์จากสตอเรจที่มีอยู่ให้มากที่สุด การเพิ่มความจุของดิสก์บนสตอเรจ จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานของระบบทำความเย็นได้ 2.มองหาโซลูชั่นสตอเรจที่ใช้พลังงานต่ำ และปล่อยความร้อนออกมาน้อย ตามข้อมกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการสร้างและรีไซเคิล 3.ลดปริมาณข้อมูลที่ใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง สตอเรจที่มีประสิทธิภาพสูงไม่ใช่แค่ราคาแพง แต่ยังใช้พลังงานมาก การเปลี่ยนไปใช้เครื่องมืออื่น เช่น เทป หรือ การลดจำนวนข้อมูลบีบอัดในดิสก์ จะช่วยให้องค์กรสามารถลดปริมาณข้อมูลที่ต้องจัดเก็บได้ และ 4.ควรมองหาเทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่น และ Thin Provisioning เพื่อรวบรวมข้อมูลจำนวนมากเป็นก้อนเดียวกัน โดยจะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดค่าใหม่ให้กับดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากระบบทำความเย็นที่สมดุลขึ้น

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องร่วมการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ในฝั่งของเทคโนโลยีไอที ที่ทุกองค์กรต้องหันมาตระหนัก และให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้โจทย์เรื่องการลดการใช้พลังงาน จะเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับทุกองค์กร เพื่อลดต้นทุน รวมทั้งเชื่อว่าในอนาคตจะกลายเป็นระเบียบที่ ทุกองค์กรต้องปฏิบัติ หรืออาจมีมาตรการทางกฎหมายมาจัดการ การเตรียมพร้อมกับระบบสตอเรจแม้อาจใช้งบที่สูง แต่ถ้าจัดการอย่างเหมาะสม ก็ย่อมช่วยประหยัดเงินค่าไฟ
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปีที่ 58 ฉบับที่ 18178 วันจันทร์ ที่ 29 ตุลาคม 2550
2 ความคิดเห็น:
หุหุ แวะมาเยี่ยมล่ะนะ
ไม่มีความคิดกับบทความเพราะยังไม่ได้อ่าน อิอิ
(มันยาวเกินไป๊)
แสดงความคิดเห็น